วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระยอดธง


พระยอดธง วัดมะขาม

พระยอดธงทองคำ และฐานตั้ง

พระยอดธง

        ในจังหวัดปทุมธานีก็จะพบพระยอดธงอยู่เป็นจำนวนมากและอยู่หลายๆ แถบริมแม่น้ำเจ้าพระโดยเฉพาะในเขตชุมชนชาวมอญ ซึ่งคนมอญตั้งแต่โบราณนิยมสร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับ โดยการประกอบพิธีกรรมเพื่อสมโภชพระพุทธรูปของชาวมอญนั้นจะแฝงความหมายถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ซึ่งเปรียบเหมือนการบังเกิดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแรกบนโลก
ซึ่งการสร้างก็จะแล้วแต่ฐานะของผู้ที่จะสร้าง เช่นเนื้อทอง เงิน นาก และเนื้อตะกั่ว เนื่องจากการสร้างเป็นการสร้างที่เป็นคราวๆ เป็นการเฉพาะอันเนื่องจากการตายของบุพการี นอกจากงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพ การถวายจตุปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์แล้ว ยังมีพิธีกรรมสำคัญซึ่งชาวไทยเชื้อสายมอญได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปอุทิศถวาย และได้จัดพิธีสมโภชพระพุทธรูปตามธรรมเนียมมอญ หรือที่ชาวมอญเรียกกันว่าพิธี "เทาะอะโย่งกย้าจก์" 
          แล้วเดือยที่ฐานพระมีไว้ทำไม
          อันเนื่องจากการฉลองพระหรือเทาะอะโยงกย้าจก์ เป็นการทำอย่างรีบเร่ง
คือวันทำบุญเจ็ดวันตอนเช้าจะต้องทำพิธีที่วัด เพื่อให้ทันการ จึงตัดชนวนพระให้เหลือไว้ จะได้ใช้ปักองค์พระกับฐานชั่วคราว เช่น หยวกกล้วย หรือของอ่อนอย่างอื่น เพื่อให้ตั้งได้ หลังจากนั้นแล้วจึงจะมาทำฐานเมื่อภายหลังจากวัสดุต่างๆ และก็จะเก็บไว้ที่เจ้าอาวาสวัดนั้นๆต่อมาเมื่อมีจำนวนมากขึ้น เจ้าอาวาสก็จะสร้างเจดีย์ขึ้นมาเพื่อนำพระที่มีอยู่มาบรรจุไว้ในเจดีย์ เพื่อสักการะบูชาของคนทั่วๆไป เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์เกิดชำรุดหรือพังลง ก็จะพบองค์พระที่บรรจุอยู่ภายใน ภาษานักเล่นพระรียกว่า “กรุแตก” ซึ่งส่วนใหญ่จะพบแต่องค์พระ ส่วนฐานจะชำรุดหลุดหายไป จึงเข้าใจผิดกันว่าเป็นพระสำหรับเสียบติดยอดธง เพราะคล้ายกับพระชัยที่ติดยอดธงชัยเฉลิมพลนั่นเอง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น